คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลและจัดการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ เพื่อให้กิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานต่างๆ ในองค์กรเป็นไปอย่างมีความปลอดภัยและเป็นไปตามกฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เช่น ISO 45001
โครงสร้างและองค์ประกอบหลักของ คปอ.
คปอ. หรือคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานมีโครงสร้างหลัก ดังนี้
1. ประธาน
ประธานของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานมักเป็นนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร หน้าที่หลักคือเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ คปอ. และมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการ คปอ.
2. กรรมการ
กรรมการของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- กรรมการผู้แทนนายจ้าง : ประกอบด้วยผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชาหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร
- กรรมการผู้แทนลูกจ้าง : ประกอบด้วยผู้แทนลูกจ้างที่ได้รับการคัดเลือกจากลูกจ้าง
จำนวนกรรมการในทั้งสองประเภทจะต้องเป็นสัดส่วนเท่ากัน และกรรมการความปลอดภัยจะต้องได้รับการฝึกอบรมจากคณะกรรมการภายในเวลา 60 วันหลังจากได้รับการแต่งตั้งหรือการคัดเลือก และมีวาระการดำเนินงานครั้งละ 2 ปี
3. เลขานุการ
เลขานุการของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานมักเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางเทคนิคหรือมีประสบการณ์ในสาขานี้ มีหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม รวบรวมข้อมูล และดำเนินงานต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานคณะกรรมการ คปอ. ซึ่งจำนวนองค์กระกอบของ คปอ. เหล่านี้จะมีจำนวนแตกต่างกันไปตามจำนวนลูกค้าภายในองค์กร
จำนวน คปอ. ในแต่ละองค์กรต้องมีเท่าไหร่
จำนวนของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานจะขึ้นอยู่กับจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ ได้กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. ๒๕๔๙
1. หากมีจำนวนลูกจ้างภายในองค์กร 50-99 คน ต้องมี คปอ. ในองค์กรไม่น้อยกว่า 5 คน
โดยจะแบ่งตามองค์ประกอบหลัก คปอ. เป็นจำนวน ดังนี้
- นายจ้าง / ผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร เป็นประธาน 1 คน
- กรรมการความปลอดภัย ผู้แทนนายจ้างระดับบัญชา เป็นกรรมการ 1 คน
- กรรมการความปลอดภัย ที่เป็นผู้แทนลูกจ้าง เป็นกรรมการ 2 คน
- จป.เทคนิคขั้นสูง / จป.วิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ 1 คน
2. หากมีจำนวนลูกจ้างภายในองค์กร 100-499 คน ต้องมี คปอ. ในองค์กรไม่น้อยกว่า 7 คน
โดยจะแบ่งตามองค์ประกอบหลัก คปอ. เป็นจำนวน ดังนี้
- นายจ้าง / ผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร เป็นประธาน 1 คน
- กรรมการความปลอดภัย ผู้แทนนายจ้างระดับบัญชา เป็นกรรมการ 2 คน
- กรรมการความปลอดภัย ที่เป็นผู้แทนลูกจ้าง เป็นกรรมการ 3 คน
- จป.เทคนิคขั้นสูง / จป.วิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ 1 คน
3. หากมีจำนวนลูกจ้างภายในองค์กร 500 ขั้นไป ต้องมี คปอ. ในองค์กรไม่น้อยกว่า 11 คน
โดยจะแบ่งตามองค์ประกอบหลัก คปอ. เป็นจำนวน ดังนี้
- นายจ้าง / ผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร เป็นประธาน 1 คน
- กรรมการความปลอดภัย ผู้แทนนายจ้างระดับบัญชา เป็นกรรมการ 4 คน
- กรรมการความปลอดภัย ที่เป็นผู้แทนลูกจ้าง เป็นกรรมการ 5 คน
- จป.เทคนิคขั้นสูง / จป.วิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ 1 คน
เริ่มปฏิบัติงาน คปอ อย่างไร?
เมื่อองค์กรมีจำนวนลูกจ้างภายในครบกำหนดดังข้างต้น ต้องมีการตั้งตำแหน่งลูกจ้างเป็นระดับ คปอ. ที่มีทั้งคัดเลือกจากนายจ้างและลูกจ้างจากนั้นลูกจ้างที่ถูกแต่งตั้งเหล่านี้จะต้องเข้าอบรมหลักสูตร คปอ. ต่อไป โดยประโยชน์การอบรม คปอ. มีมากมายรวมถึงเพื่อให้สามารถทำงานในตำแหน่งนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีความรู้ที่เพียงพอในการปฏิบัติงาน รู้วิธีการประเมินอันตรายและวิธีการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งการทำงานของ คปอ. นั้นจะมีระยะวาระในการทำงานอยู่ที่ 2 ปีจึงผลัดเปลี่ยน ส่วนในขณะทำงานจะต้องมีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามความจำเป็นเพื่อพิจารณาและกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ